15 สิ่งที่คนเล่นเกมต้องการจากภาพยนตร์ที่สร้างจากวิดีโอเกม

เชื่อว่านักเล่นเกมหลายคนคงจะรู้สึกผิดหวังจนแทบไม่อยากคาดหวังอะไรแล้ว เมื่อมีการประกาศจากค่ายหนังว่าจะมีการสร้างภาพยนตร์จากวิดีโอเกม เพราะตั้งแต่ในอดีตมาเราแทบจะไม่เจอภาพยนตร์ที่มาจากเกมเรื่องไหนที่ออกมาดีเท่าที่แฟนเกมต้องการ และเมื่อคนเล่นเกมออกมาบ่น คนที่ไม่ได้เล่นเกมเมื่อได้ดูเรื่องเดียวกันกลับบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นมันก็สนุก จนกลายเป็นว่าคนที่ไม่ได้เล่นเกมอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมคนเล่นเกมถึงออกมาบ่น วันนี้เราเลยอยากเอาความรู้สึกของคนเล่นเกมมาอธิบาย ให้คนที่ไม่ได้เล่นเกมเข้าใจว่าคนเล่นเกมเขารู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ ส่วนคนที่เล่นเกมก็จะได้รู้ว่าความจริงอีกมุมที่ว่า การสร้างภาพยนตร์ให้ออกเป็นเกมบางทีมันก็ไม่ง่ายอย่างที่เราคิด มาดูกันดีกว่าคนเล่นเกมเขารู้สึกยังไงกับเรื่องนี้ และต้องบอกก่อนว่านี่เป็นเพียงความเห็นเพียงมุมเดียวเท่านั้นไม่ใช่มุมมองทั้งหมดของคนเล่นเกมรู้สึก จึงต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านและตีความด้วย ถ้าพร้อมแล้วก็เตรียมถังพอปคอร์นให้พร้อมแล้วเข้ามาดูเรื่องราวภาพยนตร์ที่สร้างเกมในมุมมองคนเล่นเกมกัน


เรื่องแรกที่เราอยากให้คนที่ไม่ได้เกี่ยวหรือรู้จักการสร้างภาพยนตร์เข้าใจก่อนว่า การเขียนบทคิดเนื้อเรื่องเกมการแต่งนิยายไปจนถึงการ์ตูนที่เราอ่านหรือการ์ตูนที่ดูทางทีวี มันมีระบบการลำดับเรื่องการเล่าเนื้อหาที่ต่างกัน เราจะยกรูปแบบจากเกมนิยายหรือในหนังสือการ์ตูนมาสร้างเป็นภาพยนตร์แบบเหมือนทั้งหมดมันก็ทำได้ แต่มันจะดูไม่รู้เรื่องและคนดูอาจจะไม่เข้าใจในเนื้อหา เพราะในนิยายกับในหนังสือการ์ตูนจะมีบทบรรยายการลำดับเนื้อที่จะใส่อะไรลงไปขนาดไหนก็ได้ แต่ในภาพยนตร์มันคือพื้นที่จำกัดซึ่งต้องรวบรัดให้ทุกอย่างเริ่มต้นและจบในเวลาชั่วโมงเศษ ๆ การใส่ทุกอย่างรายละเอียดทุกอันลงไปจึงทำไม่ได้ จึงต้องมีการตัดหรือแก้ไขรายละเอียดต่าง ๆ ในเกมออกไป และแต่งบางส่วนขึ้นมาใหม่เพื่อให้เรื่องราวมันสมเหตุสมผลหรือเข้ารูปตามที่ภาพยนตร์ควรเป็น เราจึงได้เห็นภาพยนตร์ที่สร้างออกมาไม่ตรงกับเนื้อหาในเกม แต่นักเล่นเกมหลายคนก็คงจะสงสัย ถ้าแบบนั้นไม่สร้างทุกอย่างให้เหมือนเกมไปเลยไม่ได้หรอ คำตอบคือได้แต่มันมีรายละเอียดแยกย่อยลงไปอีกหลายอย่างที่เราจะอธิบายต่อไปจากนี้

อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ที่คนเขียนบทผู้กำกับต้องคิดหนัก กับการสร้างภาพยนตร์จากเกมที่ต้องทำให้คนที่ไม่รู้จักเกมดูได้สนุก แต่ก็ต้องให้คนที่เล่นเกมชื่นชอบด้วยมันเป็นไปได้ยาก เพราะถ้าเราเลือกฝั่งไหนอีกฝั่งก็จะเสียลูกค้าไปในทันที หรืออาจจะถูกฝั่งใดฝั่งหนึ่งด่าจนเสียชื่อผู้กำกับทีมงานการผลิตไปจนถึงนักแสดงเลย ดังนั้นผู้กำกับจึงต้องเลือกว่าจะเอาส่วนไหน ซึ่งส่วนมากทางผู้ผลิตก็จะพยายามทำมันทั้งสองอย่าง แต่สุดท้ายมันก็ไม่มีตรงกลางจนต้องไปอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งอยู่ดี อย่างภาพยนตร์เรื่อง Warcraft ที่ฉายในปี 2016 ที่ทางทีมผู้กำกับเลือกฝั่งคนเล่นเกม กับการสร้างเนื้อเรื่องใส่เนื้อหาในเกมลงไปอย่างมากมายจนคนที่เล่นเกมชื่นชอบ แต่คนที่ไม่ได้เล่นเกมพอได้ดูกลับงงว่าอันนี้คือใครคนนี้เป็นอะไรทำไมคนนี้ทำแบบนี้ แทนที่จะได้ดูสงครามแฟนตาซีแบบ The Lord of the Rings กลับมาได้ดูเรื่องราวตัวละครมากมาย กับเนื้อหาที่มีแต่คนเล่นเกมที่เข้าใจใส่มาเยอะจนกลายเป็นภาพยนตร์ที่คว่ำไป หรือจะเลือกฝั่งคนที่ไม่รู้จักเกมมาดูอย่าง Resident Evil ก็เป็นทางเลือกที่ดีเพราะคนที่ไม่เคยเล่นเกมต่างบอกว่าเรื่องนี้สนุก แต่คนเล่นเกมต่างสาปแช่งกันจนถึงทุกวันนี้ว่ามันไม่ใช่ Resident Evil แบบที่คนเล่นเกมต้องการ
